ปรัชญา ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรมุ่งผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ (outcome-based education) โดยยึดการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ (student-centered education) เรียนรู้ตามบริบทชุมชน (community oriented) อิงระบบสุขภาพของประเทศ กระตุ้นให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้หรือสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนนำประสบการณ์หรือสิ่งที่พบเห็นหรือสารสนเทศใหม่ที่ได้รับมาเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างเป็นความเข้าใจของตนเอง (constructivism) และส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต (life-long learning)
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร (Intended Educational Outcomes)
เพื่อผลิตแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ มีความรู้ความสามารถทางการแพทย์ตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา สามารถแก้ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในชนบท สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม พัฒนาคุณภาพชีวิตและประชาชนในชาติ มีความใฝ่รู้ มีคุณธรรมและสามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุข
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร (Program Objectives)
เมื่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตตามหลักสูตรนี้แล้ว บัณฑิตต้องมีความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ (professional competencies) ตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555 ตามเป้าประสงค์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (CPIRD DNA) และสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติ Thailand Standards TMC.WFME.BME Standards (2017) ดังนี้
1. มีคุณธรรม จริยธรรม และมารยาทในการประกอบวิชาชีพแพทย์ แสดงเจตคติที่ดีต่อการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมแก่ประชาชนทุกระดับ เคารพในสิทธิผู้ป่วย และมุ่งมั่นในการพัฒนาให้บริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
2. มีทักษะในการติดต่อสื่อสาร และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ผู้ร่วมงานและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียนและภาษาท่าทาง บันทึกทางการแพทย์ได้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งมีทักษะในการรับรู้ถ่ายทอดความรู้ให้ข้อมูลโดยผ่านวิธีการสื่อสารต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณและคำนึงถึงผลกระทบต่อวิชาชีพและสังคม
3. มีความรู้ความเข้าใจด้านพื้นฐานทางสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพและทักษะทางคลินิก ประยุกต์ความรู้จากแหล่งข้อมูลที่ทันสมัย น่าเชื่อถือในการตรวจวินิจฉัย บำบัดรักษา สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เศรษฐศาสตร์คลินิกและหลักการบริหารงานด้านการแพทย์สาธารณสุข
4. สามารถซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจโดยเครื่องมือพื้นฐาน เลือกตรวจเพิ่มเติมโดยเครื่องมือและห้องปฏิบัติการได้เหมาะสม กำหนดปัญหา ตั้งสมมติฐาน วางแผนการตรวจวินิจฉัยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวมร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ โดยใช้เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ รู้ขีดความสามารถ ปรึกษาผู้มีความรู้ความชำนาญกว่าและส่งต่อผู้ป่วยได้เหมาะสม รวมถึงเลือกใช้มาตรการในการคัดกรอง ป้องกันและรักษา การรักษาแบบประคับประคอง การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้อย่างเหมาะสม
5. มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง การสร้างเสริมสุขภาพ ระบบบริบาลสุขภาพ การบริบาลสุขภาพแบบองค์รวม สามารถให้การบริบาลสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ (comprehensive care) จากระดับบุคคล ครอบครัว และเชื่อมโยงไปสู่ระดับชุมชนและสังคม โดยตระหนักถึงความสำคัญของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกต่อการสร้างเสริมสุขภาพ
6. พัฒนาความรู้ความสามารถทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (continuous professional development) ให้มีมาตรฐาน ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วย สังคมอย่างต่อเนื่อง
7. สามารถปฏิบัติงานที่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข
ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program-level Learning Outcomes: PLOs)
1. PLO1 ประพฤติตนอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม เหมาะสมกับความเป็นแพทย์
2. PLO2 อธิบายความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ หลักการ บริบาลผู้ป่วย ระบบสุขภาพ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. PLO3 ประยุกต์และบูรณาการความรู้ทางด้านต่าง ๆ (จาก PLO2) ได้อย่างมีวิจารณญาณเพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยแบบองค์รวม
4. PLO4 สื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน และชุมชนได้อย่างถูกต้อง และชัดเจนตามบริบท
5. PLO5 ค้นคว้า วิเคราะห์ เรียนรู้ต่อยอดเชิงวิชาการโดยใช้สถิติทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเชื่อมโยง สู่การบริบาลสุขภาพชุมชนและที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ
6. PLO6 ให้การบริบาลผู้ป่วยแบบองค์รวมโดยใช้ทักษะทางวิชาชีพ
7. PLO7 สามารถปฏิบัติงานที่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข
หลักสูตรการศึกษา
ปริญญาตรีหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สถาบันอุดมศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
ระยะเวลาในการศึกษา
ระดับชั้นเตรียมแพทยศาสตร์และชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1-3)
ศึกษาที่ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
ระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4-6)
ศึกษาที่ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา