พันธกิจของหลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านฯ
สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

- ผลิตแพทย์ฉุกเฉินตามเกณฑ์มาตรฐานผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ
- ผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเพื่อให้ปฏิบัติงานในเขตบริการสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
- ผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเพื่อให้สามารถให้คำปรึกษาในระบบอำนวยการการแพทย์ฉุกเฉิน และทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง

ผลลัพธ์ทางการศึกษา (Intended Educational outcomes)

แพทย์ที่จบการฝึกอบรม ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังนี้
1. การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)
  1.1. สามารถให้การตรวจรักษาเพื่อให้พ้นจากภาวะวิกฤต/ฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยมีเสถียรภาพ (stabilization) รวมถึงทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพในทุกกลุ่มอายุ ในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน
  1.2. มีทักษะการซักประวัติและตรวจร่างกายที่ตรงประเด็น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ ในบริบทที่มีความจำกัดต่างๆ รวมถึงการส่งตรวจและแปลผลทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัย วินิจฉัยแยกโรค และการวางแผนรักษาที่เหมาะสม
  1.3. สามารถสังเกตอาการและการประเมินซ้ำ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการวินิจฉัย และการรักษาตามข้อมูลที่ได้ใหม่ สามารถตัดสินใจจำหน่ายผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินอย่างเหมาะสม
  1.4. สามารถทำงานในลักษณะของพหุภารกิจได้
  1.5. ทักษะการทำหัตถการฉุกเฉิน เช่น การดูแลบาดแผล การเปิดหลอดเลือด (vascular access) การตรวจคลื่นความถี่สูงในการวินิจฉัยแบบตรงเป้า (goal-directed ultrasound) การดูแลทางเดินหายใจ ในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง มีระบบไหลเวียนโลหิตไม่คงที่ เป็นต้น โดยหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และตระหนักถึงผลลัพธ์และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
2. ความรู้และทักษะเวชกรรม (Medical Knowledge and Skill)
  2.1. มีความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เช่นหลักการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกายและจิตใจ ความรู้ทางคลินิกเกี่ยวกับโรคและภาวะฉุกเฉินทุกสาขาวิชา อาการ อาการแสดง พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดโรค ยาที่ใช้รักษา เป็นต้น
  2.2. มีความเชี่ยวชาญในด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินต่อยอด เช่น ความรู้ด้านเวชศาสตร์ภัยพิบัติ การลำเลียง พิษวิทยา ความรู้ด้านโรคและภาวะที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
3. ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal Skills and Communication)
  3.1. มีทักษะการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (ผู้ร่วมงาน ผู้ป่วยและญาติ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3.2. มีทักษะในการนำเสนอทางวิชาการต่างๆ และการถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่น
  3.3. มีทักษะในการสอนและให้คำปรึกษาแก่บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน
  3.4. เป็นผู้นำทีมในการให้การบริบาลโดยมีผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง
4. การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (Practice-based Learning and Improvement)
สามารถปรับตัว และพัฒนาสมรรถภาพของตนเอง ในด้านต่อไปนี้
  4.1. ระบบงานในแผนกฉุกเฉิน
  4.2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง
  4.3. การดูแลผู้ป่วย
  4.4. การทำวิจัย
  4.5. การจดบันทึกข้อมูลทางการแพทย์
5. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
  5.1. มีความเมตตา กรุณา เคารพผู้อื่น รวมถึงยึดมั่นในหลักการทางเวชจริยศาสตร์
  5.2. มีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย สังคม วิชาชีพ และต่อตนเอง
6. การปฏิบัติบนฐานแห่งระบบ (Systems-based Practice)
  6.1. มีความรู้เกี่ยวกับบทบาทของการแพทย์ทางเลือก ระบบสุขภาพและการพัฒนาสาธารณสุขของชาติ
  6.2. มีความรู้เกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพ เช่น ระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
เป็นต้น ความรู้เกี่ยวกับการประกันคุณภาพ และกระบวนการ hospital accreditation การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดูแลรักษา การดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง
  6.3. มีความรู้เกี่ยวกับ cost consciousness medicine เช่น นโยบายการใช้ยาระดับชาติ บัญชียาหลักแห่งชาติ การใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น
  6.4. มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทางการแพทย์ หลักการบริหารจัดการต่างๆ

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

1. ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
  1.1. ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทยสภารับรองได้รับการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแล้ว
  1.2. ผ่านการปฏิบัติงานตามโครงการเพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 1 ปี
2. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์แพทยสภาในการเข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง
  ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบสนองกับพันธกิจและความต้องการทางสุขภาพ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาราชให้ความสำคัญกับผู้สมัครที่มีต้นสังกัด เพื่อตอบสนองความต้องการความขาดแคลนแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ โดยดำเนินการคัดเลือกตามกำหนดการเข้ารับการคัดเลือกเป็นแพทย์ประจำบ้านของวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย