ภาควิชาวิสัญญีวิทยา Anesthesiology

หลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน
เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
สาขาวิชาวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาฉบับ พ.ศ. 2566

หลักสูตร

(ภาษาไทย) หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
(ภาษาอังกฤษ) Maharat Nakhon Ratchasima Anesthesia Residency Training Curriculum

ชื่อวุฒิบัตร

ชื่อเต็ม
(ภาษาไทย) วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาวิสัญญีวิทยา
(ภาษาอังกฤษ) Diploma of the Thai Board of Anesthesiology
ชื่อย่อ
(ภาษาไทย) ว.ว. สาขาวิสัญญีวิทยา
(ภาษาอังกฤษ) Diploma Thai Board of Anesthesiology
ชื่อย่อ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ภาควิชาวิสัญญีวิทยาโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ภายใต้การกำกับดูแลของราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย

พันธกิจของการฝึกอบรม/หลักสูตร

ผลิตวิสัญญีแพทย์ที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน มีความรู้ และสามารถปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยร่วมกับศัลยแพทย์ แพทย์สาขาอื่น รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ ได้แบบมืออาชีพร่วมกับการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบบริการสุขภาพของประเทศ โดยคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการทางวิสัญญีตอบสนองต่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ตติภูมิและศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง

ผลลัพธ์ทางการศึกษา

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาวิสัญญีวิทยาต้องมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้านดังนี้
1) การบริบาลผู้ป่วย (patient Care) การบริบาลโดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวมคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานในทักษะต่อไปนี้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล
1.1 มีทักษะในการดูแลด้านวิสัญญีวิทยาในระยะก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนจากการระงับความรู้สึก
1.2 มีทักษะในการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป เฉพาะส่วน และเฝ้าระวังระหว่างการระงับความรู้สึกสำหรับหัตถการต่างๆ และในผู้ป่วยประเภทต่างๆ
1.3 มีทักษะในการจัดการทางเดินหายใจ (airway management)
1.4 มีทักษะในการช่วยชีวิตผู้ป่วยขั้นสูง (advance cardiac lift support)
1.5 มีทักษะในการดูแลและรักษาผู้ป่วยวิกฤติในระยะก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด (perioperative critical care)
1.6 มีทักษะในการจัดการความเจ็บปวดเฉียบพลันและความปวดเรื้อรัง (acute and chronic pain management)
2) ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรม (medical knowledge and procedural skills) สามารถทำเวชปฏิบัติได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของสาขาวิชาที่เข้ารับการฝึกอบรม
2.1 ประยุกต์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และวิทยาศาสตร์คลินิกที่เกี่ยวข้องกับวิสัญญีวิทยา
2.2 มีความรู้ความสามารถในเวชปฏิบัติ สาขาวิสัญญีวิทยา
3) ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (interpersonal andcommunication skills)
3.1 นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 ถ่ายทอดความรู้และทักษะ ให้แพทย์นักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
3.3 สื่อสารให้ข้อมูลแก่ญาติ และผู้ป่วย ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตาเคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
3.4 มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
3.5 เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์และบุคคลากรอื่น โดยเฉพาะทางวิสัญญีวิทยา
4) การเรียนรู้และการพัฒนาจากรากฐานปฏิบัติ (practtice-based learning and improvement) โดยสามารถปฏิบัติงานด้านวิสัญญีแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้
4.1 เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติงานและการดูแลผู้ป่วย โดยประเมินความสามารถของคนเองและนำมาพัฒนาเวชปฏิบัติ
4.2 ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
4.3 วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์และสามารถนำมาประยุกต์
5) ความสามารถในการทำงานตามหลักวิชาชีพนิยม (professionalism)
5.1 มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติอันดีต่อผู้ป่วยญาติผู้ร่วมงานเพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน
5.2 มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (non-technical skills) และสามารถบริหารจัดการสถานการณืที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม
5.3 มีความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (continuous medical education) หรือการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (continuous professional development)
5.4 มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
5.5 คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
6) การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (system-based practice)
6.1 มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ
6.2 มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
6.3 ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost Consciousness Medicine) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแล รักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ